ในโลกใบนี้นับว่ามีตำรับตำราการทำเค้กกว่าล้านสูตร ของหวานยอดนิยมที่ครองใจผู้คนมาหลายศตวรรษ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและวัฒนธรรมการกินของชาวโลก เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงการเฉลิมฉลองยินดี สมัยก่อนเราอาจจะนึกถึงเค้กในงานแต่งงานหรืองานวันเกิด แต่ปัจจุบันแพร่หลายไปในทุกโอกาสสำคัญไม่ว่าจะเป็น เค้กฉลองรับปริญญา เค้กสละโสด เค้กวันฮาโลวีน และเค้กปีใหม่
การเดินทางของ “เค้ก” (cake) นั้นมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน โดยมีรากศัพท์มาจากคำว่า “kaka” ในภาษาของชาวไวกิ้ง (Old Norse word) จัดเป็นอาหารชนิดหนึ่งที่มักจะมีรสหวานเเละผ่านกระบวนการอบ มีส่วนผสมสำคัญคือเเป้ง น้ำตาล เเละส่วนประกอบอื่นๆ อย่างพวกไขมัน เช่น เนย ชีส ยีสต์เเละนม นอกเหนือจากนี้ยังมีไข่ ผักเเละผลไม้ที่มาเสริมรสหวานเเละเปรี้ยวอีกด้วย
ว่ากันว่าราวศตวรรษที่ 13 มีการค้นพบหลักฐานการอบขนมเค้กที่เก่าเเก่ของชาวอียิปต์ โดยในสมัยโบราณมักจะเป็นเค้กผลไม้เเละ Gingerbread ขณะที่รูปแบบของเค้กทรงกลมที่เราเห็นในทุกวันนี้ คาดว่าจะเริ่มมีราวกลางศตวรรษที่ 17 ในช่วงที่มีการพัฒนานวัตกรรมเตาอบ เเบบพิมพ์ขนมเเละน้ำตาลทราย โดยเค้กส่วนใหญ่จะรับประทานพร้อมกับไวน์หรือน้ำชา
โดยในฝรั่งเศส เค้กไม่ได้หมายถึงขนมเค้กอย่างเดียว เเต่รวมไปถึง fruit cake ทุกชนิด เช่นเดียวกับสหราชอาณาจักรเเละสหรัฐอเมริกา ที่มีการใช้คำว่าเค้กกับขนมหวานหลายชนิด เช่น Iced cake เเละ chocolate cake เป็นต้น
ในเเง่หนึ่ง วัฒนธรรมเค้กของตะวันตกก็มีการประยุกต์มาจากวัฒนธรรมในเอเชียบ้างเล็กน้อย อย่างการทำเค้กให้มีขนาดเล็กลงเหมือนกับเค้ก kasutera ของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม เค้กในเอเชียก็ยังค่อนข้างเเตกต่างกับเค้กของตะวันตก เช่น ขนมไหว้พระจันทร์เเละเค้กข้าวของฟิลิปปินส์ เป็นต้น
จุดเปลี่ยนเเปลงสำคัญของวงการเค้ก คือการค้นพบของอัลเฟรด เบิร์ด (Alfred Bird) ในปี ค.ศ.1843 ซึ่งเขาสามารถคิดค้น “ผงฟู” หรือ baking powder ขึ้นมาได้ ทำให้สามารถทำขนมปังชนิดที่ไม่มียีสต์ได้เป็นครั้งเเรก จากเเรงบันดาลใจที่ภรรยาของเขาป่วยเป็นโรคภูมิเเพ้อาหารที่มีส่วนผสมของไข่เเละยีสต์
เมื่อเค้กตะวันตกเยือนไทย
สำหรับวัฒนธรรมของเค้กในประเทศไทย มีการคาดการณ์ว่าน่าจะเข้ามาในช่วง 60 กว่าปีที่เเล้ว เเต่ความนิยมยังจำกัดอยู่ในหมู่ชาวตะวันตกที่อาศัยอยู่ในไทย หรือกลุ่มคนที่ได้รับอารยธรรมตะวันตกเข้ามา โดยกลุ่มคนที่มีความใกล้ชิดกับชาวต่างประเทศเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้ทานขนมเค้กบ่อยๆ
หลังจากนั้นราวช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เค้กตะวันตกเริ่มเป็นที่รู้จักเเละได้รับความนิยมในวงกว้างมากขึ้น ด้วยอานิสงส์จากการค้าการลงทุนจากต่างชาติ ธุรกิจท่องเที่ยวเเละโรงเเรมที่เฟื่องฟูขึ้น เเละเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าพักในเมืองไทย โรงเเรมต่างๆ จึงต้องผลิตขนมอบเเละขนมเค้กขึ้นมาบริการชาวต่างชาติที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับอาหารท้องถิ่น รวมถึงเริ่มถูกนำไปใช้ในงานเลี้ยงสังสรรค์ ต้อนรับเเขกในงานสัมมนา งานเเต่งงานเเละการฉลองงานวันเกิด โดยการเปลี่ยนเเปลงที่เห็นได้ชัดในยุคนั้นคือ เริ่มมีร้านเบเกอรี่เปิดขายทั่วไปมากขึ้น
“ กรุงเทพในสมัยนั้นแทบจะไม่มีร้านเบเกอรี่สไตล์ฝรั่งเศสแท้ๆ ถ้ามีก็ยังจำกัดอยู่ในโรงเเรมดัง ส่วนตลาดทั่วไปจะออกแนวจีนที่เป็นขนมปังนิ่มมากกว่า อีกทั้งรสชาติยังไม่ถูกใจคนไทยเท่าไหร่นัก คิดว่าเป็นโอกาสที่ดีถ้าได้เป็นเจ้าแรกๆ ที่ทำตลาดได้ ”
ร้านเบเกอรี่ในไทยเริ่มขยายตัวมากขึ้นในสมัยสงครามเวียดนาม โดยมีการสร้างโรงโม่เเป้งสาลีขึ้นมาในไทย เพื่อลดต้นทุนการนำเข้าเเป้งสาลีจากต่างประเทศ มีการสร้างเเบรนด์ต่างๆ เพื่อวางจำหน่าย ซึ่งบริษัทเหล่านั้นได้จัดอบรมเเละสาธิตวิธีการใช้เเป้งสาลีมาทำขนมต่างๆ ให้กับลูกค้า ทำให้ธุรกิจเบเกอรี่เริ่มเข้าถึงประชาชนทั่วไปจำนวนมาก
หลังสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง ธุรกิจเบเกอรี่ยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่องเรื่อยมาเเละเริ่มมีบทบาทสำคัญกับชีวิตคนไทยมากขึ้น ด้วยการเป็นขนมที่ทานง่ายเหมาะกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เร่งรีบ รวมถึงความนิยมกินเบเกอรี่กับกาเเฟหรือเครื่องดื่มในคาเฟ่ ขณะที่หน่วยงานต่างๆ เริ่มมีการเเนะเเนวสอนทำขนมอบ เผยเเพร่สูตรทำเค้กให้ผู้คนนำไปประกอบอาชีพอย่างกว้างขวาง
เค้กคือความสุข
ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเค้กได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราเเล้ว เเม้เเต่ยามเหนื่อยเมื่อยล้าก็ขอเพียงได้ “เค้กสักชิ้น” ก็ทำให้ใจชื้นขึ้นมา หลายคนบอกว่าถึงเเม้จะอยู่ในเทรนด์กระเเสฮิตรักสุขภาพ เเต่ถ้านานๆ ทีได้ลิ้มลองเค้กอร่อยๆ ก็เหมือนเป็นการให้รางวัลชีวิตเช่นกัน ความใกล้ชิดนี้ทำให้เค้กไม่ได้จำกัดอยู่เเค่ในงานเเต่งงานเเละงานวันเกิดเท่านั้น เเต่เค้กจะอยู่กับเราในทุกช่วงโอกาส
เมื่อพูดถึงเค้กเเต่งงาน สิ่งที่นึกถึงขึ้นมาคือประเพณีการตัดเค้กแต่งงาน ซึ่งถือเป็นช่วงไฮไลต์ของงานฉลองสมรสเลยทีเดียว โดยตามที่ปฏิบัติกันมาเจ้าสาวจะเป็นคนตัดเเละมีเจ้าบ่าวคอยช่วยประคองมือไว้ หลังจากนั้นฝ่ายเจ้าสาวจะเป็นคนนำเค้กที่ตัดเเล้วไปเเจกจ่ายในบรรดาญาติของเจ้าบ่าว เหมือนเป็นการบอกกล่าวว่าตนกำลังจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของอีกฝ่ายเเล้ว จากนั้นจึงจะนำมาเเบ่งเป็นชิ้นตามสมควรเพื่อนำไปเเจกจ่ายให้เเขกที่มาร่วมงานได้ร่วมรับประทานกัน หรืออาจมีการนำกลับไปเป็นของฝากให้บุคคลที่ไม่มาร่วมงานได้ เป็นการเเบ่งความสุขให้ทั่วถึง
โดยเค้กเเต่งงานที่ดี จะต้องมีเนื้อเเน่นสามารถรองรับน้ำหนักของชั้นเค้กหลายชั้นที่ถูกตกเเต่งอย่างอลังการได้ ที่สำคัญไปกว่านั้นต้องทานได้เเละต้องอร่อยด้วย (เพราะต้องเเจกคนทั้งงาน) ส่วนการตกเเต่งบนยอดเค้กถือว่าสำคัญที่สุด ปกติมักประดับด้วยตุ๊กตาแทนตัวบ่าวสาว หรือใช้เป็นรูปนก รูปแหวนทอง หรือรูปเกือกม้า ซึ่งล้วนมีความเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดีเเละเจริญรุ่งเรือง
ขณะที่ช่วงหลายวันที่ผ่านมา คงมีเห็นผ่านตากันมาบ้างกับ “เค้กฮาโลวีน” ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของวิวัฒนาการของวัฒนธรรมเค้กที่ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของงานปาร์ตี้อย่างไม่เป็นทางการ เเต่เน้นความสนุกเเละเเปลกเเหวกเเนว บ้างก็ตกเเต่งได้น่ารัก บ้างก็ตกเเต่งได้น่ากลัวจนไม่น่ากิน อย่างการทำเป็นหัวกะโหลก มัมมี่ ผีโครงกระดูก สมองมนุษย์ เเละเค้กเลือด เป็นเค้กชวนสยองลืมไม่ลงไปอีกเเบบ
เเต่ไม่ว่าเเบบไหนก็ต้องยอมรับว่า “เค้ก” ได้กลายมาเป็นตัวเเทนของความสนุก ความรื่นเริงเเละน่ายินดี ตั้งเเต่งานใหญ่เลิศหรูอลังการไปจนถึงงานเล็กเน้นอบอุ่น หรือเพียงเเค่นั่งชิมเค้กก้อนเล็กๆ ในคาเฟ่ หรือกลิ่นหอมๆ ในระหว่างที่เเม่กำลังอบเค้กในครัวหลังบ้านก็สร้างความสุขใจได้ไม่น้อย…เค้กนั้นได้เชื่อมโยงกับทุกช่วงชีวิตของเราจริงๆ
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก https://www.matichon.co.th/