ประวัติและที่มาของห่อหมก คนไทยสมัยก่อนมีวิธีการทำอาหารควบคู่กับพืชผักต่าง ๆ จนหลายเมนูกลายเป็นอาหารสมุนไพร หนึ่งในนั้นก็คือ “ห่อหมก” ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มอาหารคาวที่มักใช้ปลา กับเครื่องเทศไปนึ่งจนได้กลิ่นหอมผสมผสานกัน โดยเลือกใช้ปลาพื้นบ้าน ที่รับประทานแล้วช่วยให้ร่างกายเย็นจากภายใน เนื้อปลาเหล่านี้นำมาขูดแล้วคลุกผสมกับกะทิ คล้ายกับการทำทอดมันปลา แต่กรรมวิธีทำให้สุกนั้น ผ่านความร้อนด้วยการนึ่ง หรือย่าง จึงเป็นอาหารที่มีรสชาติอร่อยเข้าถึงเครื่องแกงแบบไทย ๆ อีกอย่างหนึ่งที่พลาดไม่ได้
ห่อหมกจัดเป็นอาหารที่มีมาแต่โบราณ พบในหลายจังหวัดของประเทศไทย แต่ห่อหมกแบบไทยจะรับประทานแบบนึ่ง แต่ห่อหมกของประเทศลาวจะย่างเท่านั้น โดยห่อใบตองในลักษณะแบนราบ แต่ใช้วิธีคลุกเคล้าเนื้อสัตว์กับเครื่องแกงเช่นกัน
เครื่องห่อหมกมีอะไรบ้าง ?
สิ่งที่ใช้ใส่ในห่อหมกนั้น มีเนื้อสัตว์, ไข่ไก่, กะทิ, เครื่องแกง และใส่แป้งข้าวเจ้าเพื่อผสมกะทิหยอดหน้าห่อหมกแล้วโรยด้วยพริกชี้ฟ้าและใบมะกรูด ส่วนฐานของห่อหมกนั้นมักใช้ผักพื้นบ้าน เช่น ใบยอ กะหล่ำ เพื่อให้เนื้อห่อหมกไม่นิ่มหรือแห้งจนเกินไป และยังนิยมห่อด้วยใบตองเพื่อช่วยให้กลิ่นของสมุนไพรในเครื่องแกงบ่มเคล้ากันได้ดีในห่ออีกด้วย
เนื้อสัตว์ที่นิยมนำมาใส่ห่อหมก ได้แก่
- เนื้อปลาต่าง ๆ เช่น ปลากราย, ปลาสวาย, ปลาช่อน
- เนื้อปู
- ไข่แมงดา
- พบว่าใส่เนื้อหมูหรือเนื้อไก่บ้าง
เครื่องแกงที่ใช้ใส่ห่อหมก ได้แก่
- พริกแกง
- กะทิ
- พริก
- กระชาย
วิธีทำห่อหมกแต่ละสูตร ไม่เหมือนกัน และวิธีการทำให้สุกก็แตกต่างกันด้วย บางแห่งใช้การนึ่งในหม้อนึ่ง และบางสูตรใช้วิธีการย่าง เพื่อให้กลิ่นหอมของวัตถุดิบเข้ากัน โดยมักห่อด้วยใบตองเพื่อให้กลิ่นของใบตองเข้าถึงเนื้อห่อหมกด้วย
คุณประโยชน์ของเมนูห่อหมก
โดยภาพรวมแล้วเมนูห่อหมกนั้น ช่วยให้ผู้รับประทานนั้นเจริญอาหารจากเครื่องแกง และมีฤทธิ์ขับลม จากเครื่องแกงที่ตำรวมกัน โดยใช้ ข่า, รากผักชี, มะกรูด, กระชาย และสูตรที่ใส่กระเทียมนั้นจะช่วยย่อยอาหาร และยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารด้วย
และในวัฒนธรรมการรับประทานอาหารหลายจังหวัดนิยมทำห่อหมกเพื่อใช้ในงานพิธีมงคล หรืองานจัดเลี้ยง เนื่องจากเป็นอาหารที่มีรสชาติเป็นที่ชื่นชอบของทุกกลุ่มช่วงอายุ ไม่เผ็ดมากเกินไป เด็ก ๆ รับประทานได้ และรับประทานกับข้าวสวยอุ่น ๆ ก็อร่อย